ข้อบังคับ

01/09/2022

 ข้อบังคับ

สมาคม พิษวิทยาแห่งประเทศไทย

--------------------------

หมวดที่ 1

ข้อความทั่วไป

ข้อ 1.       ชื่อสมาคม               สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ใช้อักษรย่อ ส.พ.ท.

เรียกตามภาษาอังกฤษว่า         The Toxicological Society of Thailand

ใช้อักษรย่อว่า                          T.S.T.

ข้อ 2.       สำนักงาน                สำนักงานของสมาคม ตั้งออยู่ ณ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์

                                                จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ข้อ 3.       วัตถุประสงค์           สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์

3.1           เพื่อเสริมสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ด้านวิชาการพิษวิทยาในหมู่สมาชิก และผู้สนใจ

3.2           เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม และจริยธรรมในหมู่สมาชิก

3.3           เพื่อส่งเสริมการศึกษา การค้นคว้า วิจัย ในวิชาการพิษวิทยาสาขาต่างๆ

3.4           เพื่อประสานงานด้านวิชาการกับองค์การทางพิษวิทยา ทั้งในและนอกประเทศ

3.5           เพื่อรวบรวมพลังสติปัญญาของมวลสมาชิก นำไปใช้ในการส่งเสริมสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของประชาชนที่เกี่ยวกับสารพิษและความเป็นพิษ

3.6           เพื่อโฆษณาเผยแพร่ความรู้ทางพิษวิทยาให้แก่ประชาชนทุกระดับ

3.7           เพื่อส่งเสริมให้มีมาตรฐานความปลอดภัยจากสารพิษ และความเป็นพิษ

3.8           ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง

 

เครื่องหมายของสมาคม

 

 

หมวดที่ 2

สมาชิกภาพ

 

ข้อ 4.       ประเภทสมาชิก       สมาชิกของสมาคมฯ มี 5 ประเภท คือ

ก.             สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงเกียรติคุณในทางวิชาการพิษวิทยา  ที่คณะกรรมการของสมาคมฯ ลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิก

ข.            สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่สำเร็จการศึกษาพิษวิทยาสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานด้านพิษวิทยาสาขาใดสาขาหนึ่ง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ บุคคลผู้มีผลงานทางวิชาการด้านพิษวิทยา ซึ่งทางกรรมการสมาคมฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควร

ค.             สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลที่สนใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิษวิทยา

ง.             สมาชิกอุปการะ ได้แก่ บุคคลหรือนิติบุคคลที่ยินดีส่งเสริม และให้การอุปการะแก่สมาคมฯ

จ.             ยุวสมาชิก ได้แก่ นิสิต นักศึกษา ที่สนใจ และกำลังศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพิษวิทยา

ข้อ 5.  การเข้าเป็นสมาชิก       ผู้ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก เว้นไว้แต่สมาชิกกิตติมศักดิ์ และสมาชิกอุปการะ ให้ยื่นใบสมัครโดยกรอกข้อความในใบสมัครเข้าเป็นสมาชิก ตามแบบที่สมาคมฯ ได้กำหนดขึ้นไว้ต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญของสมาคมฯลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน ให้เลขาธิการประกาศชื่อ ที่อยู่ และอาชีพของผู้สมัครใหม่ไว้ ณ สำนักงานของสมาคมฯไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการฯ เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้เสนอคณะกรรมการฯพิจารณา และเมื่อคณะกรรมการฯ ได้ลงมติรับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้นั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมด้วยระเบียบข้อบังคับ 1 เล่ม เมื่อผู้สมัครได้รับทราบแล้ว ต้องนำเงินค่าบำรุงมาชำระภายใน 1 เดือน สมาชิกภาพของผู้สมัครจะสมบูรณ์เมื่อผู้สมัครได้ชำระค่าบำรุงเรียบร้อยแล้ว

 

ข้อ 6.    ค่าบำรุง         สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ เสียค่าบำรุงปีละ 100 บาท หรือชำระครั้งเดียวตลอดชีพเป็นเงิน 1,000 บาท ยุวสมาชิก เสียค่าบำรุงปีละ 50 บาท

ข้อ 7.       สิทธิของสมาชิก     

ก.             สมาชิกมีสิทธิเข้าร่วมประชุมทางวิชาการที่สมาคมฯได้จัดขึ้น

ข.            สมาชิกมีสิทธิเสนอความคิดเห็นใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของสมาคมฯต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ

ค.             สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 มีสิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้

ง.             สมาชิกสามัญมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่ได้คนละ 1 คะแนน ในญัตติหนึ่งๆ

จ.             สมาชิกสามัญมีสิทธิได้รับแต่งตั้ง และ/หรือรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ

ฉ.            สมาชิกมีสิทธิประดับเข็มเครื่องหมายของสมาคม

ข้อ 8.       หน้าที่ของสมาชิก  

8.1           สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

8.2           สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ป้องกันรักษาเกียรติคุณของสมาคมและอาศัยชื่อของสมาคมฯ เพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

8.3           สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานทางกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ

ข้อ 9.       การพ้นจากสมาชิกภาพ           สมาชิกจะพ้นจากสมาชิกภาพเนื่องด้วยเหตุดังต่อไปนี้

9.1           ตาย

9.2           ลาออก (แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคมฯ) เมื่อคณะกรรมการฯอนุมัติแล้ว

จึงออกได้

9.3           มีความประพฤติเสียหาย หรือนำความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาสู่สมาคมฯ ซึ่งที่ประชุมใหญ่

มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ

9.4           ขาดส่งค่าบำรุงประจำปี (ตามระเบียบของสมาคมฯ) และที่ประชุมใหญ่มีมติให้พ้นจาก

สมาชิกภาพ

ข้อ 10.     การเปลี่ยนสมาชิกภาพ           ให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อได้รับอนุมัติให้

เปลี่ยนสภาพสมาชิกแล้ว ให้ดำเนินการตามข้อ 5.

 

 

 

 

 

 

 

 

หมวดที่ 3

วิธีการบริหารสมาคมฯ

ข้อ 11.     ให้มีกรรมการบริหารกิจการของสมาคมขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน 15 คน ได้แก่ นายกอุปนายกเหรัญญิก,

เลขาธิการปฏิคม,นายทะเบียนประชาสัมพันธ์กรรมการวิชาการและกรรมการกลาง 7 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงทางพิษวิทยา หน่วยละ 1 คน ตามระเบียบสมาคมฯ ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี

ข้อ 12.     การดำรงตำแหน่ง    ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร จะต้องเป็นสมาชิกสามัญซึ่งได้ชำระค่าบำรุงเรียบร้อย

แล้ว ทั้งนี้ให้เป็นที่เข้าใจว่า สมาชิกกิตติมศักดิ์เป็นผู้มีเกียรติคุณพิเศษ ดังนั้น คณะกรรมการบริหารอาจเชิญเข้าประชุมเพื่อขอความเห็นได้เป็นครั้งคราวตามสมควร

ข้อ 13.  คณะกรรมการบริหาร อาจแต่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใดเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯได้ ตามที่เห็นสมควร

ข้อ 14.  ตำแหน่ง นายกอุปนายก และเหรัญญิก ในคณะกรรมการบริหารชุดหนึ่งๆ ให้ที่ประชุมใหญ่ประจำปีเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ และเมื่อคณะกรรมการบริหารได้บริหารงานมาครบกึ่งวาระ (1ปี) แล้ว ให้มีการเลือกตั้งเฉพาะนายกอุปนายก และเหรัญญิก ขึ้น เพื่อรั้งตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารชุดต่อไป ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งตามความในวรรคหลังนี้จะเข้าดำรงตำแหน่ง และปฏิบัติหน้าที่เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารชุดก่อนสิ้นสุดลง

ข้อ 15.  ให้ นายกอุปนายก และเหรัญญิก แต่งตั้งสมาชิกสามัญที่มีคุณสมบัติครบตามข้อ 11  อีก 12 คน เข้าเป็น

กรรมการบริหารของสมาคมฯ

ข้อ 16.  คณะกรรมการบริหารมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการฯ เพื่อดำเนินงานด้านใดด้านหนึ่งของสมาคมฯได้ทั้งนี้ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร วาระของอนุกรรมการฯ สิ้นสุดลงพร้อมวาระของคณะกรรมการบริหารชุดที่แต่งตั้งนั้น

ข้อ 17.     ถ้าตำแหน่ง  นายก หรืออุปนายก หรือเหรัญญิก ว่างลงก่อนกำหนด 1 ปี 6 เดือน หลังจากได้รับ

เลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งใหม่เฉพาะตำแหน่งที่ว่างลง ถ้าตำแหน่งดังกล่าวว่างลงหลังจากกำหนด 1 ปี 6 เดือน ให้กรรมการที่ทำหน้าที่รองในขณะนั้นรับตำแหน่งแทน ถ้าตำแหน่งดังกล่าว และตำแหน่งรองว่างลงทั้งสองตำแหน่ง ให้คณะกรรมการเลือกบุคคลใดในคณะกรรมการนั้นดำรงตำแหน่งแทน และให้อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระของคณะกรรมการบริหารชุดนั้น

ข้อ 18.     การบริหารงานของสมาคมฯ   คณะกรรมการบริหารงานของสมาคมฯ มีหน้าที่บริหารงานของสมาคมฯเพื่อให้

เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ และรับผิดชอบร่วมกันในทุกกรณี

 ข้อ 19.    ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมฯประชุมเพื่อปรึกษากิจการของสมาคมฯปีละไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง

หรือไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง ในวาระของการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารชุดนั้น

ข้อ 20. คณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ มีอำนาจออกระเบียบการต่างๆ ทั้งนี้ให้อยู่ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ควบคุมดูแลการเงิน บรรจุหรือแต่งตั้ง ถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ และจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

ข้อ 21.     ให้นายกเป็นประธานในการประชุมใหญ่ประจำปี การประชุมคณะกรรมการ หากนายกไม่อาจทำการได้ ให้

อุปนายกเป็นประธานของการประชุม หากนายก และอุปนายกไม่อาจทำการได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการท่านใดท่านหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ข้อ 22.     องค์ประชุม  องค์ประชุม ต้องประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 8 คน ในจำนวนนี้ต้องมี

นายกอุปนายกเลขาธิการ หรือรองเลขาธิการอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 คน

ข้อ 23.     มติของคณะกรรมการบริหาร ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ประธาน

ในที่ประชุมมีอำนาจชี้ขาด

ข้อ 24.     อำนาจหน้าที่ของ นายก อุปนายก และเหรัญญิก และตำแหน่งอื่นๆ ให้เป็นตามระเบียบของสมาคมฯ

 

 

หมวดที่ 4

การประชุม

 

ข้อ 25.     ประชุมใหญ่สามัญประจำปี    ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีปีละครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน

หรือธันวาคม เพื่อให้คณะกรรมการบริหารแถลงกิจการที่ได้ดำเนินการมาตลอดปี โดยมีวาระการประชุมดังนี้

ก.         คณะกรรมการบริหารแถลงกิจการ

ข.        เสนองบดุลประจำปี เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ประจำปีรับรอง

ค.         เลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง นายก อุปนายก และเหรัญญิก (ในปีที่มีการเลือกตั้ง)

ง.         เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี

จ.         อื่นๆ

ข้อ 26.     ประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ หรือ เมื่อสมาชิกสามัญมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามคนร้องขอ ก็ให้มีการประชุมวิสามัญได้

ข้อ 27.     องค์ประชุม             องค์ประชุมของการประชุมใหญ่สามัญ และวิสามัญ จะต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียง ถ้าการนัด ประชุมครั้งแรกมีสมาชิกกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้นัดประชุมเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งต้องห่างจากวันนัดประชุมครั้งแรกไม่น้อยกว่า 10 วัน การประชุมครั้งที่ 2 นี้ ถือว่าครบองค์ประชุม

ข้อ 28.     การประชุมวิชาการ  ให้มีการประชุมวิชาการทางพิษวิทยาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

 

 

 

หมวดที่ 5

การเงินและงบประมาณ

ข้อ 29.     ให้เหรัญญิกเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการเงินของสมาคมฯ ทั้งในการเก็บเงินค่าบำรุง การรักษาเงิน

การจ่ายเงิน การทำบัญชี งบดุลประจำปี

ข้อ 30.     งบประมาณค่าใช้จ่ายของสมาคมฯ ให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้จัดทำขึ้นเป็นงบประมาณประจำปี

ข้อ 31.   ให้ นายก และเหรัญญิก ลงลายมือชื่อร่วมกันในการสั่งจ่ายเงินของสมาคมฯ และประทับตราของสมาคมฯ ทุกครั้ง

ข้อ 32.     ให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้กำหนดระเบียบการเงินของสมาคมฯ

 

 

 

 

หมวดที่ 6

การแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ 33.     ข้อบังคับของสมาคมฯ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเท่านั้น และต้องได้รับ

ความเห็นชอบจากสมาชิกสามัญด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงที่เข้าประชุม

 

หมวดที่ 7

การเลิกสมาคมฯ

ข้อ 34.     สมาคมนี้หากมีความจำเป็นต้องเลิกกิจการไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม บรรดาทรัพย์สินที่เหลืออยู่หลังจากชำระบัญชีแล้ว ให้ยกเป็นทรัพย์สินของสภากาชาดไทย หรือมูลนิธิสายใจไทย หรือนิติบุคคลอื่นใดที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกทุกประเภท ด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกผู้ที่มาประชุม