ประวัติและความเป็นมาของสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย

01/09/2022

ประวัติและความเป็นมาของสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
The Toxicological Society of 
Thailand

 

 

สืบเนื่องจากการประชุม FAPA ครั้งที่ 8 ณ เมืองเซอูล ประเทศเกาหลี รศ.ดร.ประโชติ เปล่งวิทยา  นายกสมาคมเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นรองประธานชั่วคราว Asian Society of Toxicology ซึ่งจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ทางพิษวิทยาที่ประเทศเกาหลีในปี 2527 ดังนั้นท่านจึงได้เชิญนักพิษวิทยาจากสถาบันต่างๆ มาประชุมเพื่อปรึกษาถึงการสร้างสถานภาพของนักพิษวิทยาในประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2525 โดยมี ผศ.ดร.พาลาภ สิงหเสนี เป็นผู้ประสานงานและเลขานุการ จากการประชุมรวม 3 ครั้งของนักพิษวิทยาจำนวน 23 ท่าน (ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการก่อตั้งสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย) ได้มีความเห็นในการสร้างสถานภาพของนักพิษวิทยา  ในสาขาวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันโดยการจัดให้มีสถาบันกลางในรูปแบบของสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยขึ้น อันมีข้อสรุปจากการประชุมให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ก่อตั้งชมรมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยขึ้นในระยะแรกก่อน เมื่อรวบรวมสมาชิกได้แล้ว จึงก่อตั้งเป็นสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยขึ้นภายหลัง โดยเร็วที่สุด

2. ดำเนินการร่างข้อบังคับสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย (การร่างข้อบังคับนี้ รศ.ดร.ประโชติ ได้กรุณาดำเนินการแล้วพิจารณาร่วมกันจนกระทั่งอยู่ในแบบร่างที่พร้อมที่จะนำไปยื่นขออนุญาตต่อสันติบาลได้แล้ว)

3. จัดให้มีการแบ่งหน้าที่การทำงานของคณะกรรมการก่อตั้งสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารชมรมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย โดยให้มีตำแหน่งหน้าที่ดังต่อไปนี้ กรรมการที่ปรึกษา ประธานฯ รองประธานฯ เลขานุการ เหรัญญิกนายทะเบียน ปฏิคม กรรมการวิชาการ กรรมการประชาสัมพันธ์

4. จัดให้มีการประชุมกึ่งวิชาการของสมาชิก และนักวิชาการในหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชนขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสารพิษในประเทศไทย ซึ่งได้จัดขึ้นราวเดือนพฤษภาคม 2526 ทั้งนี้ให้มีการประชุมใหญ่ของสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทยด้วย ในคราวเดียวกัน

 

          ได้จดทะเบียนในนาม “ สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. เพื่อเสริมสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ด้านวิชาการ     พิษวิทยาในหมู่สมาชิก และผู้สนใจ

2. เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม และจริยธรรมในหมู่สมาชิก

3. เพื่อส่งเสริมการศึกษา การค้นคว้า วิจัย ในวิชาการพิษวิทยาสาขาต่างๆ

4. เพื่อประสานงานด้านวิชาการกับองค์การทางพิษวิทยา ทั้งในและนอกประเทศ

5. เพื่อรวบรวมพลังสติปัญญาของมวลสมาชิก นำไปใช้ในการส่งเสริมสวัสดิภาพ          และความปลอดภัยของประชาชนที่เกี่ยวกับสารพิษและความเป็นพิษ

6. เพื่อโฆษณาเผยแพร่ความรู้ทางพิษวิทยาให้แก่ประชาชนทุกระดับ

7. เพื่อส่งเสริมให้มีมาตรฐานความปลอดภัยจากสารพิษ และความเป็นพิษ

8. ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง

 

นายกสมาคมฯจากอดีตถึงปัจจุบัน

1. รศ. นพ. สมพูล กฤตลักษณ์

2. รศ.นพ. สมจิตต์ วิริยานนท์

3. ศ.ดร. ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์

4. รศ.ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต

5. รศ.ดร. พาลาภ สิงหเสนี

6. ศ.ดร. ไมตรี สุทธจิตต์

7. ดร. สุมล ปวิตรานนท์

8. รศ.ดร. ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต

 

กิจกรรมของสมาคมที่ช่วยเหลือสังคมจากอดีตถึงปัจจุบัน

1. ผู้แทนในคณะกรรมการระดับชาติได้แก่

1.1 กรรมการความปลอดภัยทางเคมีวัตถุแห่งชาติ

1.2 กรรมการวัตถุอันตราย

1.3 กรรมการอาหารและยา

1.4 กรรมการร่าง พ.ร.บ.ยา

1.5 กรรมการร่าง พ.ร.บ.วัตถุเสพติด

1.6 ผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ

2. สมาคมฯเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ The 3 rd International Congress of the Asian Society of Toxicology (ASIATOX III) ระหว่าง 1-6 กุมภาพันธ์ 2547

3. การจัดบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาจากต่างประเทศ เช่นผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกภาคพื้น South East Asia Region เป็นต้น

4. จัดสัมนาวิชาการด้านพิษวิทยาแก่ผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมเช่น เรื่องความต้องการและความพร้อมในการดำเนินการดูแลด้วยความรับผิดชอบอุตสาหกรรมเคมี

5. โครงการอบรมความรู้ด้านพิษวิทยาด้านแก่เจ้าหน้าที่ อบต.บริเวณนิคมอุตลสาหกรรม

6. ร่วมแสดงนิทรรศการในการให้ความรู้ด้านพิษวิทยาในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

 

ผลงานวิจัยเด่นของสมาคม

·การสำรวจความต้องการและความพร้อมในการดำเนินการดูแลด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Care) ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผลิตสารเคมี

 

สถานที่ติดต่อปัจจุบัน

สำนักงานนายก: สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย

สถาบันคลังสมองของชาติ  539/2 อาคารมหานครยิบซั่มชั้น 15  

ถ. ศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400       

โทร. 02-640- 0461 ต่อ 110 โทรสาร 02-640- 0465

http://www.thaitox.org, https://www.thaitox.net